การเดินเรือถ้าไม่มีหางเสือก็คงหลงทิศทาง เช่นเดียวกับการออมเงินที่จะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องมีการตั้งเป้าหมายของการออมเงินที่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ หนังสือที่เกี่ยวกับการเงินทั้งไทยและต่างประเทศมักระบุไว้ตั้งแต่หน้าแรก ๆ เลยว่า หากไม่มีเป้าหมายของการออมเงิน ไม่ว่าจะทำยังไงการออมเงินก็จะกลายเป็นแรงกดดันมากกว่าผลักดันจนทำให้เราล้มเลิกไปในที่สุด ซึ่งในวันนี้ เราจะพาไปดูกันว่า เราควรจะเริ่มตั้งเป้าหมายในการออมอย่างไรให้ได้ผลและไม่กดดันตัวเองจนเกินไป ว่าแล้วก็ตามมาเลย!
คุยกับตัวเองให้เคลียร์
เป้าหมายของการออมเงินนั้นเริ่มต้นง่าย ๆ จากการถามความต้องการของตัวเองเพื่อวางแผนการเก็บเงิน ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากตอนนี้เรากำลังคิดว่า เราอยากมีเงินเก็บสักก้อนเพื่อในอนาคต เราก็ต้องตอบให้ได้ว่า “เงินเท่าไหร่” “สำหรับอนาคตส่วนไหน” “ใช้เวลากี่ปี” ซึ่งหากเราตอบได้ว่า เราอยากมีเงินเก็บสัก 1 ล้านบาทภายในเวลา 2 ปี คำถามต่อมาคือ เราจะนำเงินส่วนนี้ไปทำอะไรต่อ และสิ่งที่เราจะลงเงินไปนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการหรือจำเป็นจริงหรือไม่ โดยหากตอบคำถามเหล่านี้ได้ทั้งหมดแล้วก็เท่ากับว่า เราได้มีเป้าหมายของการออมเงินที่ชัดเจนขึ้นระดับนึงแล้วแหละ
วางแผนการเก็บเงินให้เหมาะกับเรา
เมื่อตั้งเป้าหมายของการออมเงินอย่างชัดเจนแล้ว สิ่งที่เราควรเริ่มทำทันที คือ การวางแผนว่าในแต่ละเดือนหรือแต่ละวันนั้นเราจะมีวิธีเก็บเงินได้อย่างไร โดยเราอาจจะเริ่มออมเงินแบบง่าย ๆ โดยการหักเงินเก็บอัตโนมัติ 10% จากรายได้ทุกเดือน เก็บเหรียญหลังจากใช้จ่ายทุก ๆ วัน หรืองดการดื่มกาแฟ หรือ ขึ้นวินมอเตอร์ไซค์เพื่อนำเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนนี้มาเก็บ ซึ่งเราอยากแนะนำให้ลองใช้วิธีเก็บเงินแบบที่ถนัดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ สัก 3-6 เดือนก่อนเพื่อดูว่า เรากดดันจากการเก็บเงินแบบที่เลือกหรือไม่ ถ้าหากกดดันแล้วรู้สึกว่าไม่มีความสุขกับการออมก็ควรเริ่มมองหาแนวทางในการปรับเปลี่ยน เพราะอย่าลืมว่า การออมเงินที่ดีต้องไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ด้วย